“ปัญจขันธ์” โสมคนสมุนไพรอมตะ
หากกล่าวถึง “ปัญจขันธ์” หลายคนคงไม่ค่อยคุ้นหูกันนักแต่ถ้าบอกว่า “เจียวกู่หลาน” สมุนไพรจีนที่เข้ามาโด่งดังในไทยจนเกิดโครงการแลกเปลี่ยนสมุนไพร ไทยจีน 11 ชนิด คงต้องร้องอ๋อ!และพอทราบสรรพคุณกันมาบ้างแล้ว
“ปัญจขันธ์” มีชื่อจีนว่า “เจียวกู่หลาน” (Jiaogolan) หรือ ซีแย่ตั่น เซียนเฉ่า มีคำแปลเก๋ๆ ว่า สมุนไพรอมตะ และมีชื่อญี่ปุ่นว่า อะมาซารู (ซาหวานจากเถา) ฟากตะวันตกเขาก็มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Miracle glass (หญ้ามหัศจรรย์) หรือ Southern ginseng (โสมภาคใต้) หรือ 5-Leaf ginseng (โสมห้าใบ) ดังนั้น “ปัญจขันธ์” จึงนับว่าเป็นหญ้าสารพัดชื่อที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
สันติสุข ประสิทธิ์ศักดิ์ ผู้จัดการกลุ่มงานพืชสมุนไพรและพืชธัญญาหารเชียงใหม่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดป่าพาไปดูแปลงงานวิจัยสมุนไพรปลอดสารเคมี (Organic Farm) ภายหลังจากที่ได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำการทดลองศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรจีน "เจียวกู่หลาน" เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก สร้างรายได้ ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศไทยในการนำเข้าพืชสมุนไพรจากประเทศจีนปี ละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำร่องปลูกพืชสมุนไพรในเขตพื้นที่ 5 สวนป่าทางภาคเหนือขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งได้แก่ สวนป่าหลวงสันกำแพง สวนป่าแม่แจ่ม สวนป่าแม่หอพระ สวนป่าบ้านหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสวนป่าแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ผู้จัดการกลุ่มงานพืชสมุนไพรฯ เล่าให้ฟังว่า เดิมเจียวกู่หลาน เป็นอาหารที่ใช้รับประทานแก้หิวยามกระหาย ใช้เป็นยาแก้ไอและแก้ร้อนใน ต่อมาก็เริ่มมีการคิดค้นคว้าวิจัยและพัฒนาใช้เจียวกู่หลานในการผลิตยาและ เหล้าซึ่งหลังจากการศึกษาด้านคลินิกและด้านเภสัชทั้งในประเทศจีนและต่าง ประเทศพบว่าเจียวกู่หลานเป็นสมุนไพรที่ใช้รับประทานเป็นประจำได้ไม่ว่าจะใช้ ทั้งต้นหรือสกัดออกมา โดยจะประกอบด้วยตัวยา 50 ชนิด ซึ่งมีตัวยาที่เหมือนโสมคน 4 ชนิด ได้แก่ GinsenosidesRb1 Rd และ F3 รวมอยู่ด้วย ดังนั้น เจียวกู่หลาน ไม่เพียงมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับโสมคนเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องกังวล ซึ่งต่างจากโสมคน หากใช้เกินขีดปริมาณที่กำหนดอาจเกิดผลข้างเคียงได้
สมุนไพรเจียวกู่หลาน มีสรรพคุณใช้บำรุงร่างกาย ระงับประสาท ช่วยให้นอนหลับ ลดความตื่นเต้น ลดความดันในโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และกรดไขมันอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด ชะลอความชรา ยืดอายุของเซลล์เพิ่มจำนวนอสุจิ รักษาโรคปวดหัวข้างเดียว ช่วยควบคุมน้ำหนัก ได้โดยไม่ต้องอดอาหาร และช่วยสร้างภูมิต้าน ทานโรคต่าง ๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีสรรพ คุณในการควบคุมการเจริญ ของเซลล์มะเร็ง และสามารถควบคุมการแพร่การเจริญของเซลล์มะเร็งเองได้ รวมทั้งสามารถยับยั้งการทำงานของเชื้อ HIV
จากนั้นสันติสุขเล่าถึงการทดลองปลูกเจียวกู่หลานในพื้นที่สวนป่าหลวงสัน กำแพงให้ฟังว่า การนำเจียวกู่หลานมาปลูกในแปลงทดลองเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์จีน กับสายพันธุ์ไทย เพื่อศึกษาตัวสมุนไพรและเอกลักษณ์ของสารที่อยู่ในตัวสมุนไพร โดยการดำเนินงานในแต่ละสวนจะใช้พื้นที่ 40 ตารางเมตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สายพันธุ์ไทยโครงการหลวง 20 ตารางเมตร และสายพันธุ์จากประเทศจีน 20 ตารางเมตรและล่าสุด ได้ส่งตัวอย่างพืชสมุนไพรเจียวกู่หลานแห้ง จำนวน 2 ตัวอย่าง ให้กับทางสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจวิเคราะห์ ซึ่งผลปรากฏพบว่า ในสมุนไพรเจียวกู่หลานมีสารสำคัญสูงเข้าเกณฑ์มาตรฐานทางเคมี และไม่มีสารปนเปื้อน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริม สุขภาพได้เป็นอย่างดี
สำหรับสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกปัญจขันธ์อากาศไม่ควรร้อนจัดอุณหภูมิ ที่เหมาะสม คือ 16-28 องศาเซลเซียส สูงจากระดับน้ำทะเล 300-3,200 เมตร ขึ้นได้ตามภูเขา หุบเหว สองฟากทางที่มีความชื้นสูง ความชื้นสัมพันธ์มากกว่าร้อยละ 80 มีปริมาณแสงประมาณร้อยละ 40-60 ลักษณะดินที่ปลูกมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนหรือด่างอ่อน
“การปลูกสมุนไพรปลอดสารเคมีหรือที่เรียกว่าเกษตรอินทรีย์ส่งผลให้เราได้ สมุนไพรที่บริสุทธิ์และมีสารสำคัญเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ยังไม่คงที่ ซึ่งเราต้องระมัดระวังกันตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การล้างสมุนไพร การอบสมุนไพร และการเก็บรักษาซึ่งหลายๆ อย่างช่วยฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ด้วย”หัวหน้าสันติสุขอธิบาย
นอกจากเจียวกู่หลานแล้ว ที่สวนป่าหลวงสันกำแพง ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีโครงการสวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 บนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ เพื่อสร้างต้นแบบสวนสมุนไพรประมาณ 500 ชนิด ด้วย หัวหน้าสันติสุข บอกว่า โครงการนี้จัดทำเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ และศึกษาสวนสมุนไพรเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้เกิดความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายร่วมกับกลุ่มสมุนไพรพื้นบ้านและ โรงพยาบาลในท้องถิ่นในการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานในการนำไปบำบัดรักษาตนเอง ตลอดจนการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่สมาชิกหมู่บ้านป่าไม้และราษฎรในบริเวณ ใกล้เคียง
นอกจากนี้ ยังมีแปลงเพาะปลูกสมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น โกฐจุฬาลำพา หรือชิงเฮา ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรียแบบใหม่ที่ออกฤทธิ์รวดเร็วและมีความเป็นพิษต่ำ และยังพบว่า ยานี้ได้ผล 100% ในการรักษาคนไข้ที่ดื้อยาคลอโรควิน และให้ผลดีร้อยละ 92.9 สำหรับผู้ป่วยมาลาเรียขึ้นสมองอีกด้วย หรือจะเป็นกระชายแดง ไวอะกร้าเมืองไทยที่คงไม่ต้องบอกกล่าวถึงสรรพคุณก็คงรู้เพราะชื่อเสียง โด่งดังมาก สำหรับสตรีที่นี่ก็ปลูกว่านชักมดลูกที่มีสรรพคุณโดดเด่นไม่แพ้กระชายแดงเลย
ผู้จัดการกลุ่มงานพืชสมุนไพรฯ ทิ้งท้ายด้วยว่า สวนป่าสันกำแพงเป็นแหล่งที่รวบรวมพันธุ์ไม้สมุนไพรชนิดต่างไว้มากมาย มีสวนสมุนไพร แปลงวิจัยสมุนไพร แปลงทดลองปลูกสมุนไพร โรงแปรรูปสมุนไพรเบื้องต้น แปลงสาธิตการเกษตรแบบพอเพียง แปลงปลูกผักพื้นบ้าน การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำฮอร์โมนพืช เหล่านี้เพื่อนำความรู้ส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตาม และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ตามพระราชประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริไว้